
การปลูก การดูแล
การปลูก
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพื้นที่
-
พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกกาแฟควรเป็นที่ ๆ มีความสูง ประมาณ 800 – 12,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ความลาดชันไม่เกิน 50 % กำจัดวัชพืชโดยการถางให้โล่ง เตรียมทำแนวระดับ การเตรียมพื้นที่ส่วนมากเริ่มทำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้พร้อมสำหรับปลูกกาแฟในฤดูฝนที่จะมาถึง ( ประมาณเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม )
-
ทำแนวระดับ โดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้รูปตัวเอ เขาควาย หรือระดับน้ำ ทำแนวปลูกกาแฟโดยมีระยะระหว่างต้น 2 เมตร ระยะห่างระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชัน โดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 – 2 เมตร
-
ขุดหลุมปลูกกาแฟ ขนาด 0.5 x 0.5 x 0.5 เมตร ( หรือ 1 x 1 x1 ศอก ) แยกหน้าดินกับดินก้นหลุมออกจากกัน หน้าดินจะใช้ผสมใส่ลงที่ก้นหลุม
-
การผสมดินใส่ก้นหลุม ประกอบด้วย หน้าดิน ปุ๋ยคอก ปูนขาว ( โดโลไมท์ ) ปุ๋ยฟอสเฟต และฟูราดาน ผสมให้เข้ากัน ใส่ก้นหลุมไว้
-
กลบด้วยดินก้นหลุมให้เสมอปาก ใช้ไม้ปักทำเครื่องหมายหลุมไว้
ขั้นตอนที่ 2 การปลูก
-
นำต้นกล้าที่มีขนาดเหมาะสม ความสูงประมาณ 45 – 50 ซม. มีใบ 6 – 8 คู่ สมบูรณ์แข็งแรง ผ่านการฝึกให้ทนทานต่อแสงแดดจัดและการขาดน้ำในเบื้องต้นแล้วลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินให้แน่น
-
ใช้ไม้ปักกันลมโยกคลอน
การดูแลรักษาต้นกาแฟ
การกำจัดวัชพืช
กาแฟควรได้รับการกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอในฤดูฝน โดยเฉพาะหลังปลูกใหม่ อายุ 1 – 3 ปี เพราะต้นยังเล็ก ไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งกับวัชพืชได้ โดยการถางรอบ ๆ บริเวณสวนกาแฟ และถางให้สะอาดบริเวณโคนต้นเพื่อใส่ปุ๋ยต่อไป เศษวัชพืชที่ถางออกสามารถนำมาเป็นวัสดุคลุมดินได้
การใส่ปุ๋ย
ในระยะที่กาแฟยังไม่ติดผล ควรใส่ปุ๋ย 46 – 0 – 0 เมื่อกาแฟเริ่มติดผลแล้ว ( ปีที่ 4 เป็นต้นไป ) ต้องใช้ปุ๋ย 15 – 15 – 15 ใช้หลักการคร่าว ๆ คือ ใส่ 3 ครั้ง ในเวลา ต้น – กลาง – ปลายฤดูฝน แต่ละครั้งใส่ 30 – 150 กรัม ( 1 – 5 กำมือ ) ขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผล และขนาดการเติบโตของลำต้น
การคลุมโคน
ทุกครั้งหลังใส่ปุ๋ยต้องมีการคลุมโคนต้น เพื่อไม่ให้ปุ๋ยถูกชะล้างหรือระเหยสูญหายไป นอกจากนั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนควรคลุมโคนให้หนาประมาณ 30 ซม. เพื่อรักษาความชื้นในดิน ทำให้กาแฟรอดตายพ้นฤดูร้อนได้
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่ง ช่วยให้กาแฟสามารถเจริญเติบโต ได้ทรงพุ่มที่สวยงามแข็งแรง ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ หลักการกว้าง ๆ ของการตัดแต่งกิ่ง คือ พยายามอย่าให้กาแฟมีลำต้นหลักเกิน 3 ลำต้น ( 1 – 3 ลำต้นจะดีที่สุด ) กำจัดกิ่งแขนงที่เกิดมากเกิน แห้งตาย หรือไม่ติดผลแล้ว ออกจากลำต้นหลัก และกระตุ้นให้เกิดหน่อใหม่ที่โคนต้นเมื่อต้องการ จะเปลี่ยนลำต้นหลักใหม่หลังจาก 8 – 10 ปีผ่านไป
การตัดแต่งกิ่งสำหรับระยะ 3 – 5 ปีแรก
-
การตัดแต่งกิ่งแบบ 2 ลำต้น
ต้นกาแฟที่มีลำต้นเดียว ถ้าต้องการให้มีสองลำต้น ให้ตัดยอดสูงจากพื้นดินประมาณ 45 ซม. เมื่อมีหน่อใหม่เกิดขึ้นที่ปลายยอด ให้ตัดทิ้งเหลือไว้ 2 กิ่ง ริดกิ่งแขนงที่อยู่ชิดลำต้นออกให้หมด รวมทั้งกิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่า 30 ซม. จากพื้นดิน เพื่อไม่ให้มดหรือแมลงใช้เป็นทางขึ้นต้นกาแฟ
การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นกาแฟอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป
หลังจากกาแฟอายุ 8 – 10 ปี มีจำนวนข้อที่ติดผลน้อยลง สภาพดินทรุดโทรม และผลผลิตต่ำ ต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้เกิดยอดใหม่
-
การตัดแต่งกิ่งแบบเปิดด้านข้าง
การตัดแบบเปิดข้าง จะตัดกิ่งแขนงที่อยู่ด้านตะวันออกทิ้งทั้งหมด เนื่องจากแสงเป็นตัวกระตุ้นให้หน่อเจริญออกมา เมื่อหน่อใหม่เกิดขึ้นอายุประมาณ 6 เดือน จึงตัดลำต้นเก่าออก คัดเลือกหน่อที่แข็งแรงไว้เพียง 1 – 2 อัน เพื่อเลี้ยงให้เป็นลำต้นหลักต่อไป
-
การตัดจนเหลือแต่ตอ
จุดประสงค์เช่นเดียวกับการตัดแต่งกิ่งแบบเปิดข้าง การตัดออกทั้งหมดจะทำให้เกิดหน่อใหม่จำนวนมากแตกออกมา คัดเลือกไว้ไม่เกิน 3 หน่อ ปล่อยให้เจริญเติบโตเป็นลำต้นหลักต่อไป
ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

